มอร์แกน สแตนลีย์เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นในเอเชียและกลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเข้าสู่ช่วงท้ายของภาวะตลาดหมี (Bear Market) อย่างไรก็ดี คาดว่าผลประกอบการและมูลค่าหุ้นของบริษัทจดทะเบียนยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะเรียกว่าเป็นการพลิกฟื้น (Turnaround) โดยมอร์แกน สแตนลีย์ยังคงมีมุมมองการวิเคราะห์ในลักษณะแบบบนลงล่าง (Top-Down View) ซึ่งเป็นการมองจากภาพใหญ่ที่สุดลงมาที่ภาพเล็ก หรือเป็นการวิเคราะห์การลงทุนโดยพิจารณาจากเศรษฐกิจโดยรวมก่อน และใช้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มากำหนดขอบเขตการลงทุนให้แคบลง
ทีมนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ซึ่งรวมถึงนายโจนาธาน การ์เนอร์กล่าวว่า มอร์แกน สแตนลีย์ตระหนักถึงความเสี่ยงต่าง ๆ และความเป็นไปได้ที่ตลาดจะเผชิญกับภาวะขาลงในวันข้างหน้า แต่ก็เชื่อว่าตลาดกลุ่มนี้ยังคงมีศักยภาพ เนื่องจากได้เข้าสู่ช่วงท้ายของภาวะตลาดหมีแล้ว โดยได้เผชิญกับแรงกดดันในด้านต่าง ๆ อาทิ มูลค่า, กฎระเบียบ, ภูมิรัฐศาสตร์ และห่วงโซ่อุปทาน
ลอรา หวัง หนึ่งในทีมวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์กล่าวว่า ตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มเผชิญกับความผันผวน เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มซบเซาลง พร้อมกับกล่าวว่า จีนกำลังเริ่มผ่อนคลายนโยบาย แต่กำหนดเวลาและขนาดของการผ่อนคลายขึ้นอยู่กับการควบคุมโควิด-19 ซึ่งบ่งชี้ว่าจีนยังคงเผชิญความเสี่ยง
ทั้งนี้ การที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มหันมาใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และการที่จีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญ ๆ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดหุ้นเอเชียในปีนี้ โดยการร่วงลงเป็นเวลา 4 เดือนได้ส่งผลให้มูลค่าของตลาดหุ้นเอเชียหายไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์แล้วในปีนี้ ขณะที่ดัชนีหุ้นจีนอยู่ในกลุ่มดัชนีที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในโลก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า มอร์แกน สแตนลีย์ได้แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่ดี รวมทั้งยังแนะนำให้ลงทุนในประเทศที่มีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หรือได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
มอร์แกน สแตนลีย์ได้แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overweight) ในตลาดหุ้นบราซิล รวมทั้งยังแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นซาอุดีอาระเบีย, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์