นักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายหุ้นเอเชียที่ไม่รวมจีนอีกครั้งในเดือนก.ย. เนื่องจากนักลงทุนต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐพุ่งสูงขึ้น, สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอ่อนแอลง
ข้อมูลจากตลาดหุ้นของเกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย บ่งชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นมูลค่ารวม 8.83 พันล้านดอลลาร์เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นการขายรายเดือนครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดหุ้นของภูมิภาคเอเชียจนถึงตอนนี้ ต้องเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกถึง 6.97 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 4.763 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2551 ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลก
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เหล่านักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ดีดตัวสูงขึ้น
นายมาร์ค เฮเฟเล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนของยูบีเอส โกลบอล เวลธ์ แมเนจเมนท์ระบุว่า ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของเฟด ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินของภูมิภาคและตลาดส่งออกด้วยเช่นกัน
ขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันซึ่งพึ่งพาธุรกิจภาคเทคโนโลยี ต้องเผชิญกับเม็ดเงินที่ไหลออกสูงที่สุดในรอบ 3 เดือนในเดือนที่ผ่านมาที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์และ 5.3 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ
ในส่วนของอินเดียและไทยมีเงินทุนไหลออกที่ 903 ล้านดอลลาร์ และ 653 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ หลังจากที่เพิ่งมีแนวโน้มว่า จะมีเม็ดเงินไหลเข้าเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติยังเป็นผู้ขายหุ้นสุทธิในตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และเวียดนามในเดือนก.ย. สวนทางกับอินโดนีเซียซึ่งมีเม็ดเงินไหลเข้าเล็กน้อยราว 209 ล้านดอลลาร์