สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักลงทุนต่างชาติได้เทขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียสูงถึง 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นกระแสเงินไหลออกสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 7 ครั้งรวม 4.25% ในปีที่แล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ และหันไปถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจมากกว่า
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยเป็นเพียงไม่กี่ตลาดซึ่งนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิในปีที่แล้ว โดยมีมูลค่า 2.027 แสนล้านบาท หรือราว 6.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ต่างชาติไม่ได้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไต้หวันเผชิญแรงเทขายจากต่างชาติหนักที่สุดในภูมิภาค โดยมีกระแสเงินทุนไหลออก 4.16 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียและเกาหลีใต้มีเงินทุนไหลออก 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 9.6 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ
ดัชนี MSCI Asia Pacific ทรุดตัวลง 19.4% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ที่ดิ่งลง 43.3% ในปี 2551 ขณะที่ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย บวก 0.7% ณ สิ้นปี 2565
นักวิเคราะห์ระบุว่า เม็ดเงินจะยังคงไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ของเอเชียในปีนี้ อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก่อนที่จะแตะระดับสูงสุดในช่วงกลางปีนี้