บริษัทจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังพิจารณานำหุ้นเสนอขายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนขานรับการเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มอาเซียน และจากการที่ไม่มีบริษัทจีนเข้าทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐในระยะนี้
ผู้บริหารระดับอาวุโสของบริษัทฟันดิง โซไซตีส์ (Funding Societies) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินดิจิทัลชั้นนำของเอเชีย รวมทั้งบริษัทกุชคลาวด์ อินเทอร์เนชันแนล (Gushcloud International) ซึ่งเป็นธุรกิจบันเทิงของสิงคโปร์ และบริษัทซันเดย์ อินชัวร์เทค (Sunday Insurtech) ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการประกันสัญชาติไทย ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขากำลังมองหาลู่ทางที่จะทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐ
ส่วนเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทวีเอ็นจี คอร์ป (VNG Corp) ซึ่งเป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตของเวียดนาม และบริษัทโฮเทล101 โกลบอล ( Hotel101 Global) ธุรกิจในเครือของบริษัทดับเบิลดรากอน คอร์ป (DoubleDragon Corp) ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของฟิลิปปินส์ ประกาศแผนเข้าทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยได้แรงหนุนจากการที่บริษัทคู่แข่งในจีนถูกระงับการทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดด้านการเมืองของทั้งสองประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยรัฐบาลจีนได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบบริษัทจีนที่ต้องการจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
เลฟ ชไนเดอร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัทดีเอฟดีแอล เวียดนาม (DFDL Vietnam) กล่าวว่า "จีนมีบทบาทในกลุ่มอาเซียนน้อยลงอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ บริษัทคู่แข่งในจีนค่อย ๆ ปลีกตัวออกไป เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการที่เข้มงวด และเศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอลง"
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า คาร์ซัม กรุ๊ป (Carsome Group) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซซื้อขายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน ได้แสดงความสนใจที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐ
ทั้งนี้ กลุ่มอาเซียนประกอบไปด้วยสมาชิก 10 ประเทศซึ่งได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว เมียนมา และกัมพูชา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2566 บริษัทในกลุ่มอาเซียนสามารถระดมทุนผ่านการทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐได้ประมาณ 101 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าระดับของปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 919 ล้านดอลลาร์ แต่นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า ยอดการทำ IPO ของบริษัทในกลุ่มอาเซียนจะเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มีความต้องการแหล่งเงินทุนใหม่ หลังจากที่ต้องพึ่งพากองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในทางตรงกันข้าม บริษัทจีนสามารถระดมทุนผ่านการทำ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐได้เพียง 463.7 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งแม้ว่าสูงกว่าระดับของปี 2565 แต่ตัวเลขดังกล่าวน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับปี 2564 และ 2563 ที่สามารถระดมทุนได้ถึง 1.296 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 1.248 หมื่นล้านดอลลาร์ตามลำดับ
นักวิเคราะห์กล่าวว่า นักลงทุนต่างต้องการเข้าลงทุนในตลาดเกิดใหม่อย่างอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและจำนวนประชากรปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจอินโดนีเซียซึ่งใหญ่ที่สุดของอาเซียนนั้น มีการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 3 ไตรมาสในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนและภาครัฐ