คาดตลาดหุ้นเอเชียโชว์ฟอร์มดีต่อเนื่องปีนี้ พร้อม 3 ข้อเท็จจริงที่นลท.ควรรู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 9, 2024 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นซึ่งทำผลงานโดดเด่นที่สุด ขณะที่นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกจะยังคงทำผลงานยอดเยี่ยมได้อย่างต่อเนื่องในปี 2567

อย่างไรก็ดี นักลงทุนน้อยคนที่จะรู้ข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับตลาดหุ้นเอเชียในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้รวบรวม 3 ข้อเท็จจริงดังกล่าวจากรายงานของเอชเอสบีซี โกลบอล รีเสิร์ช (HSBC Global Research) ดังนี้:

1. มาร์เก็ตแคปของบริษัทแอปเปิ้ลอยู่ในระดับสูงกว่ามาร์เก็ตแคปทั้งหมดของตลาดหุ้นไต้หวันหรือตลาดหุ้นเกาหลีใต้

เอเชียได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตรวดเร็วจนโลกต้องจับตา โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัว 4.2% ในปี 2567 เทียบกับเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.9%

อย่างไรก็ดี คนจำนวนมากไม่รู้ว่า มาร์เก็ตแคปของบริษัทแอปเปิล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐนั้น ใหญ่กว่ามาร์เก็ตแคปทั้งหมดของตลาดหุ้นไต้หวันหรือตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยข้อมูลจากเอชเอสบีซีระบุว่า มาร์เก็ตแคปของแอปเปิ้ล ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3.01 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ณ สิ้นสุดวันที่ 29 ม.ค. 2566 อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไต้หวันอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์

ไม่เพียงเท่านั้น มาร์เก็ตแคปของบริษัทแอปเปิ้ลเพียงบริษัทเดียว ยังสูงกว่ามาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้น 6 ประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดย 6 ประเทศดังกล่าวประกอบไปด้วยไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

2. มาร์เก็ตแคปของ 5 บริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่ของจีนรวมกันเท่ากับ BCA แบงก์ใหญ่สุดของอินโดฯ

แม้ตลาดหุ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีขนาดเล็กกว่าตลาดจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ตลาดหุ้นจีนได้ทรุดตัวลงเกือบ 12% ในปี 2566 เนื่องจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลงอย่างหนัก โดยเฉพาะราคาหุ้นบริษัทคันทรี การ์เดน โฮลดิ้งส์ และเอเวอร์แกรนด์ที่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง และเป็นปัจจัยฉุดภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของระบบเศรษฐกิจจีน

ข้อมูลจากเอชเอสบีซีระบุว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อนำมาร์เก็ตแคปของ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ของจีนมารวมกัน จะเทียบเท่ากับมาร์เก็ตแคปของแบงก์ เซนทรัล เอเชีย หรือ BCA ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ซึ่งแตกต่างจากในปี 2565 ที่เมื่อนำมาร์เก็ตแคปของ 5 บริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนเหล่านั้นมารวมกันจะมีมูลค่าสูงกว่ามาร์เก็ตแคปของ BCA ถึง 4 เท่า

ทั้งนี้ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 5 แห่งของจีนได้แก่ไชน่า รีซอสเซส แลนด์, ไชน่า โอเวอร์ซีส์ แลนด์ แอนด์ อินเวสต์เมนท์, ไชน่า ว่านเคอ, โพลี ดิเวลล็อป เมนท์ และไชน่า เมอร์แชนท์ เสอโขว่

3. GDP สิงคโปร์ใหญ่กว่าฮ่องกง แต่มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นสิงคโปร์น้อยกว่าฮ่องกงถึง 10%

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์มีขนาดใหญ่กว่า GDP ของฮ่องกง ซึ่งทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงต่างก็เป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญของเอเชีย แต่มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นทั้งสองแห่งแตกต่างกันอย่างมาก

ข้อมูลจากเอชเอสบีซีระบุว่า ในปี 2565 มูลค่า GDP ของสิงคโปร์อยู่ที่ 4.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่า GDP ของฮ่องกงในปีดังกล่าวอยู่ที่ 3.60 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2566 มาร์เก็ตแคปโดยรวมของบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 4.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในเรื่องนี้ นายเฮราลด์ แวน เดอร์ ลินด์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดหุ้นของเอชเอสบีซีอธิบายว่า การที่มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นฮ่องกงมีมูลค่าสูงกว่าสิงคโปร์นั้น เป็นเพราะบริษัทส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์เป็นบริษัทของสิงคโปร์และบริษัทในกลุ่มอาเซียน ขณะที่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงมีทั้งหุ้นบริษัทจีน รวมทั้งบริษัทที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ซึ่งรวมถึงบริษัทแซมโซไนต์ (Samsonite) ผู้ผลิตกระเป๋าเดินทาง และแบรนด์ดังอย่าง ปราดา (Prada) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงได้รับความสนใจเป็นวงกว้างมากกว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ