ยูบีเอส กรุ๊ป (UBS Group) ระบุในบันทึกว่า กองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วโลกที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อหุ้น-ขายชอร์ตหุ้น (long-short) กำลังเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer discretionary) เนื่องจากกลุ่มเฮดฟันด์มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อจีน
ยูบีเอสระบุว่า หลาย ๆ กองทุนมองจีนในแง่ลบในช่วงต้นปี 2567 แต่ต่อมา ระดับความเชื่อมั่นในจีนก็เพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีนเริ่มคลายตัวเล็กน้อย ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวลง และรัฐบาลจีนแสดงสัญญาณที่จะแก้ไขวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ผ่านการผ่อนคลายเชิงนโยบายและการเคลียร์สต็อกอสังหาฯ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงพุ่งขึ้น 7% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นรายเดือนที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2566 และทำผลงานดีกว่าตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง ขณะที่หุ้นใหญ่ ๆ ในดัชนีต่างพากันปรับตัวขึ้นแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาทิ เหม่ยถวน (Meituan) พุ่งขึ้น 21% เทนเซ็นต์ (Tencent) พุ่งขึ้น 15% และไฮ้ ดิ เหลา (Haidilao) พุ่งขึ้น 13%
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยูบีเอสปรับคำแนะนำเป็นเพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight) ในหุ้นจีนและฮ่องกง ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ระบุว่า จะปรับมุมมองการลงทุนต่อหุ้นจีนใหม่ โดยให้เหตุผลว่า แนวทางล่าสุดของรัฐบาลจีนนั้นมุ่งเสริมสร้างด้านการกำกับดูแลกิจการและยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน
ขณะเดียวกัน บทวิเคราะห์จาก BofA Securities ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ระบุว่า ด้วยความผันผวนล่าสุดในตลาดหุ้นอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐ "นักลงทุนสามารถมองหาการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโอแบบราคาไม่แพงได้ในฮ่องกงหรือจีน"