การแตกพาร์ 10 ต่อ 1 ของหุ้นบริษัทอินวิเดีย (Nvidia) เริ่มมีผลแล้วเมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) โดยบริษัทมีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานของอินวิเดียและนักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อหุ้นได้ง่ายขึ้น โดยการแตกพาร์ส่งผลให้ราคาต่อหุ้นลดลง โดยที่จำนวนหุ้นอินวิเดียในตลาดเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าตลาดของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หุ้นอินวิเดียปิดบวก 0.75% แตะที่ 121.79 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ จากเดิมที่มีราคา 1,200 ดอลลาร์ต่อหุ้นเมื่อวันศุกร์ (7 มิ.ย.)
นับตั้งแต่ที่อินวิเดียประกาศเรื่องการแตกพาร์และการคาดการณ์ผลประกอบการที่แข็งแกร่งเมื่อเดือนพ.ค. ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาเกือบ 27% โดยการแตกพาร์ครั้งนี้ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าอินวิเดียอาจติดดัชนีดาวโจนส์
นายเบน เลดเลอร์ นักกลยุทธ์ตลาดโลกจากโบรกเกอร์ออนไลน์อีโทโร (eToro) วิเคราะห์ว่า "ผลข้างเคียงจากการแตกพาร์หุ้นอินวิเดียคือการที่บริษัทจะอยู่ร่วมกับอะเมซอน (Amazon) และแอปเปิ้ล (Apple) ในดัชนีดาวโจนส์ โดยอาจจะเบียดหุ้นอินเทล (Intel) ที่ตอนนี้มีน้ำหนักน้อยสุดให้หลุดออกจากดัชนี"
อย่างไรก็ตาม นายเดนนิส ดิ๊ก นักวิเคราะห์โครงสร้างตลาดจากทริปเปิ้ล ดี เทรดดิ้ง (Triple D Trading) ให้ความเห็นว่า "จากที่ผ่านมา หุ้นที่ราคาพุ่งขึ้นก่อนการแตกพาร์แบบนี้ มักจะซึมลงหลังจากนั้น และผมก็คาดว่าสัปดาห์นี้น่าจะมีแรงเทขายจากนักลงทุนออกมาบ้าง"
ด้านทีมนักกลยุทธ์จากโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) นำโดยนายเดวิด คอสติน ให้ข้อมูลว่า การแตกพาร์ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้ปริมาณการซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นบางกรณี เช่น การแตกพาร์หุ้นอะเมซอนในปี 2565 และอินวิเดียในปี 2564
จากการวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ โดยศึกษาการแตกพาร์ของบริษัทในดัชนี Russell 1000 จำนวน 45 บริษัท นับตั้งแต่ปี 2562 พบว่า ปริมาณการซื้อขายมักจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวหลังจากประกาศแตกพาร์ แต่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างและหลังจากที่มีการแตกพาร์เกิดขึ้นแล้ว