นักลงทุนในหุ้นเกมสต็อป (GameStop) ได้ยื่นถอนฟ้องร้องคดีความต่อนายคีธ กิลล์ หรือที่รู้จักกันในนาม "รอริง คิตตี้ (Roaring Kitty)" เป็นการชั่วคราว โดยก่อนหน้านี้นายกิลล์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์ "หุ้นมีม" ในปี 2564 และหลอกลวงนักลงทุนด้วยกลยุทธ์ปั่นหุ้นแล้วทุบราคา (pump and dump) ในหุ้นเกมสต็อปซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกวิดีโอเกม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มิ.ย.) มีการยื่นฟ้องร้องแบบกลุ่มต่อศาลรัฐบาลกลางในบรุกลิน รัฐนิวยอร์ก โดยกล่าวหาว่านายกิลล์ฉ้อโกงหลักทรัพย์ แต่ต่อมาในวันจันทร์ (1 ก.ค.) คดีดังกล่าวก็ถูกถอนฟ้องโดยสมัครใจโดยไม่มีการแจ้งเหตุผลใด ๆ อย่างไรก็ดี ข้อมูลตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลระบุว่า คดีนี้สามารถยื่นฟ้องร้องได้ใหม่
ทั้งนี้ ทีมทนายความจากสำนักงานกฎหมายพอเมอแรนต์ซ (Pomerantz) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มนักลงทุนในคดีนี้ ยังไม่ได้ออกมาให้ความคิดเห็นใด ๆ เพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ นายมาร์ติน เรเดฟ จากลาสเวกัส และนักลงทุนกลุ่มนี้กล่าวหาว่านายกิลล์ได้ปั่นราคาหุ้นเกมสต็อประหว่างวันที่ 13 พ.ค. ถึง 13 มิ.ย. ด้วยการแอบสะสมหุ้นและคอลออปชั่น (call option) จำนวนมาก ก่อนจะเทขายทำกำไรไปบางส่วนทันทีที่นายกิลล์กลับมาปรากฏตัวบนโลกโซเชียลมีเดียหลังจากหายหน้าหายตาไปนานถึง 3 ปี
นักลงทุนกลุ่มนี้ยังอ้างว่า การกระทำของนายกิลล์ส่งผลให้ราคาหุ้นเกมสต็อปผันผวนอย่างหนัก ทำให้เขาทำกำไรได้หลายล้านดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนรายย่อยต้องแบกรับผลขาดทุน
"จำเลยยังคงมีสถานะเป็นคนดังและมีผู้ติดตามนับล้านคนผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย ดังนั้น จำเลยจึงตระหนักดีถึงความสามารถของตนในการปั่นราคาหุ้นเกมสต็อป รวมถึงผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากการกระทำดังกล่าว" คำฟ้องระบุ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายกิลล์ได้โพสต์ภาพมีมที่มีความหมายซ่อนเร้นบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ทำให้หลายคนมองว่าเป็นสัญญาณขาขึ้นของหุ้นเกมสต็อป ซึ่งเป็นหุ้นที่นายกิลล์เคยเชียร์อย่างหนักในปี 2564 หลังจากนั้น ราคาหุ้นเกมสต็อปพุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 2 วันถัดมา ก่อนจะร่วงลงเกือบหมดช่วงบวกภายในวันที่ 24 พ.ค.
ต่อมาในวันที่ 2 มิ.ย. นายกิลล์เปิดเผยว่าเขาถือหุ้นเกมสต็อปอยู่ 5 ล้านหุ้น และคอลออปชั่นอีก 120,000 สิทธิ แต่ต่อมาในวันที่ 13 มิ.ย. นายกิลล์กลับบอกว่าได้ขายคอลออปชั่นทั้งหมดออกไปแล้ว แต่กลับเพิ่มการถือหุ้นเกมสต็อปเป็น 9 ล้านหุ้น
ด้านนักลงทุนระบุว่า ความจริงเกี่ยวกับการลงทุนของนายกิลล์ถูกเปิดเผยในวันที่ 3 มิ.ย. เมื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานข่าวเกี่ยวกับจังหวะเวลาในการซื้อขายออปชั่นของเขา และเปิดเผยว่าโบรกเกอร์ออนไลน์อย่าง E*Trade พิจารณาที่จะยกเลิกการให้บริการแก่นายกิลล์บนแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ กระแสหุ้นมีมเกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนจำนวนมากต้องอยู่บ้าน และนำไปสู่ปรากฏการณ์ "ชอร์ตสควีซ" (short squeeze) ซึ่งทำให้บรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เดิมพันว่าราคาหุ้นจะร่วงนั้นต้องขาดทุนอย่างหนัก
ล่าสุดเมื่อวานนี้ ราคาหุ้นชูวี่ (Chewy) เกิดความผันผวนหลังจากที่นายกิลล์เพิ่งออกมาเปิดเผยว่า เขามีหุ้นอยู่ในบริษัทค้าปลีกผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงรายนี้อยู่ถึง 6.6%