"ฟอร์ด" กำไร Q2/67 ต่ำคาด ฉุดหุ้นร่วง 11% ติดหล่มปัญหาคุณภาพรถ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 25, 2024 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) รายงานเมื่อวานนี้ (24 ก.ค.) ว่า ผลกำไรที่ปรับปรุงแล้วในไตรมาสที่ 2/2567 ลดลง เนื่องจากบริษัทยังคงเผชิญกับปัญหาคุณภาพที่มีค่าใช้จ่ายสูงและธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นตัวฉุดผลประกอบการ ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลง 11% ในการซื้อขายหลังปิดตลาด

ตามข้อมูลจาก LSEG บริษัทรถยนต์จากดีทรอยต์รายนี้ทำกำไรที่ปรับปรุงแล้วได้ 47 เซนต์ต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 68 เซนต์ อย่างมีนัยสำคัญ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้บริหารของฟอร์ดย้ำว่า บริษัทยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปรับเปลี่ยนการดำเนินงานทั้งในส่วนของรถสันดาปและรถ EV แต่ดูเหมือนวอลล์สตรีทจะยังไม่ปักใจเชื่อ

"คุณบอกว่าฟอร์ดตอนนี้เป็นคนละบริษัทกับเมื่อ 3 ปีก่อน แต่ตลาดหุ้นดูเหมือนจะไม่เห็นด้วยกับคุณเลย" นายอดัม โจนาส นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) กล่าวกับนายจิม ฟาร์ลีย์ ซีอีโอของฟอร์ด ในการประชุมทางโทรศัพท์ของบริษัท

ตั้งแต่ที่นายฟาร์ลีย์ขึ้นมาเป็นซีอีโอของฟอร์ดในเดือนต.ค. 2563 เขาได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคุณภาพของรถยนต์ โดยฟอร์ดได้จ้างผู้อำนวยการบริหารฝ่ายควบคุมคุณภาพคนใหม่ และปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตบางส่วนเพื่อลดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ฟอร์ดยังคงครองแชมป์ในเรื่องจำนวนการเรียกคืนรถยนต์มากที่สุดในวงการ

นายจอห์น ลอว์เลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของฟอร์ด เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ค่าใช้จ่ายในการรับประกันสินค้าพุ่งสูงขึ้นถึง 800 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยนายลอว์เลอร์ชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่นี้เกี่ยวข้องกับรถรุ่นเก่าที่เปิดตัวในปี 2564 หรือก่อนหน้านั้น เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินการบริการภาคสนามในไตรมาสนี้เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายแบบครั้งเดียวสำหรับรถรุ่นเก่าเหล่านี้ และฟอร์ดคาดว่าช่วงครึ่งปีหลัง ค่าใช้จ่ายในการรับประกันจะเป็นไปตามที่บริษัทคาดการณ์ไว้

ฟอร์ดยังคงยืนยันประมาณการกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) รายปีไว้ที่ 1-1.2 หมื่นล้านดอลลาร์

"เราไม่ควรมองว่าผลประกอบการไตรมาสนี้หมายความว่าทั้งปีจะแย่ตามไปด้วย มันไม่ใช่อย่างนั้น เรามั่นใจมากกับจุดที่เรายืนอยู่ในปีนี้ แผนกำลังดำเนินไปด้วยดี แต่ต้องเข้าใจว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ มันไม่ได้ราบรื่นขึ้นไปเรื่อย ๆ เราต้องเจอหลุมเจอบ่อบ้างเป็นธรรมดา ในขณะที่เรากำลังปรับโครงสร้างหลาย ๆ อย่างอยู่" นายลอว์เลอร์กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทรถยนต์สันดาปรายใหญ่ ๆ ได้ปรับลดแผนการผลิตรถ EV ลง เนื่องจากความต้องการในตลาดที่ชะลอตัว ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่ดุเดือดจากเทสลา (Tesla) และบริษัทผลิตรถ EV จากจีนในตลาดโลก

เมื่อต้นเดือนนี้ ฟอร์ดได้ปรับเปลี่ยนแผนสำหรับโรงงานประกอบในแคนาดา ซึ่งเดิมตั้งใจจะใช้เป็นที่ผลิตรถ EV แบบสามแถวที่นั่ง โดยระบุว่าจะผลิตรถกระบะ F-150 รุ่นเรือธงของฟอร์ดแทน นายฟาร์ลีย์เผยว่าบริษัทกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์สันดาปที่พุ่งสูงขึ้น

"โดยรวมแล้ว การก้าวเข้าสู่ธุรกิจรถ EV ทำให้เราได้บทเรียนมากมาย แต่มันก็ผลักดันให้บริษัทต้องปรับตัวให้แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงนำบทเรียนนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจรถยนต์ (สันดาปแบบดั้งเดิม) ของเราด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีในระยะยาว การปรับโฉมใหม่ของฟอร์ดย่อมต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด" นายฟาร์ลีย์กล่าว

ในส่วนของรถ EV นายฟาร์ลีย์กำลังทุ่มเทความพยายามของบริษัทไปที่การขยายไลน์อัปรถยนต์ไฮบริดทั่วโลกให้ได้ 40% ในปีนี้ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับรถ EV ขนาดเล็กราคาประหยัด โดยฟอร์ดได้มอบหมายให้กลุ่มทีมงานสร้างสรรค์อิสระ หรือ "skunk works" ที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้

ฟอร์ดบันทึกผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.1 พันล้านดอลลาร์ในส่วนของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและซอฟต์แวร์ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเพิ่มเติมจากผลขาดทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก ทั้งนี้ ผู้บริหารคาดว่าแผนกนี้อาจต้องแบกรับผลขาดทุนก่อนหักภาษีสูงถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

ขณะเดียวกัน ธุรกิจรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ของฟอร์ด ซึ่งนายฟาร์ลีย์เรียกว่าเป็น "อาวุธลับ" ของบริษัท ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของผลกำไรโดยรวม โดยแผนกนี้ทำกำไรจากการดำเนินงานได้ถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ พร้อมทั้งมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 15%

ด้านคู่แข่งจากเมืองเดียวกันอย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) ประกาศผลประกอบการไตรมาสสองออกมาดีเกินคาด ทั้งกำไรและรายได้สูงกว่าที่นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ โดยปัจจัยหนุนมาจากราคาขายที่แข็งแกร่งและความต้องการรถกระบะที่ใช้น้ำมันที่ยังคงสูง ทำให้บริษัทปรับเพิ่มประมาณการรายปีเป็นครั้งที่สองในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หุ้นของบริษัทกลับร่วงลงราว 6% ในวันอังคาร (23 ก.ค.) เนื่องจากนักวิเคราะห์กังวลว่า ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์อาจอยู่ได้อีกไม่นาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ