ผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ดัชนีนิกเกอิ 225 ของญี่ปุ่นมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้ ก่อนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปลายปี 2568
นักวิเคราะห์ 18 รายจากผลสำรวจของรอยเตอร์ในช่วงวันที่ 8-20 ส.ค.มองว่า หลังจากเผชิญแรงเทขายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 37 ปีมาแล้ว ดัชนีนิกเกอิมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 7% แตะระดับ 40,000 จุดภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะพุ่งขึ้นสู่ 42,000 จุดภายในสิ้นเดือนมิ.ย. 2568 และทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 42,500 จุดภายในสิ้นปี 2568
โทนี ซิคามอร์ นักวิเคราะห์ตลาดจาก IG กล่าวว่า "มูลค่าหุ้นยังคงน่าสนใจ อัตราดอกเบี้ยก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปฏิรูปองค์กรก็ยังคงคืบหน้าต่อไป"
ซิคามอร์กล่าวเสริมว่า ดัชนีนิกเกอิอาจเผชิญกับการปรับฐานอีกครั้งในปีนี้ "เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ ประกอบกับความผันผวนในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น"
"อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานะการเก็งกำไรในเงินเยนมีความสมดุลมากขึ้นแล้ว ผมคาดว่าปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบน้อยลงต่อตลาดในช่วงปลายปี"
ทั้งนี้ ดัชนีนิกเกอิเคยพุ่งทะยานแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 42,426.77 จุดเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ก่อนร่วงลงอย่างรุนแรง ท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของค่าเงินเยน ซึ่งก่อนหน้านี้อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2529
ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนพากันเทขายธุรกรรมแคร์รี่เทรดที่ใช้เงินเยนเป็นแหล่งเงินทุน หลังจาก BOJ ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นแบบผิดคาด ขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาซบเซาต่อเนื่องก็ทำให้นักลงทุนเริ่มเก็งว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจต้องรีบลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด
ตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาต่ำกว่าคาดในช่วงต้นเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีนิกเกอิดิ่งลงอย่างหนักถึง 12.4% ในวันที่ 5 ส.ค. โดยร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันฮาโลวีนปีที่แล้ว และปิดตลาดด้วยการลดลงมากที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่เหตุการณ์วันจันทร์ทมิฬ (Black Monday) ในปี 2530
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นตั้งแต่นั้นมา หลังตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐออกมาดีขึ้น ประกอบกับ BOJ ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ปัจจัยที่ช่วยหนุนดัชนีนิกเกอิในช่วงต้นปี อย่างผลประกอบการที่แข็งแกร่งและการผลักดันการปฏิรูปบริษัท ซึ่งนำโดยตลาดหลักทรัพย์โตเกียวและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนดัชนีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
จากการสอบถามนักวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลประกอบการพบว่า 11 จาก 13 รายคาดการณ์ว่า บริษัทต่าง ๆ จะทำผลงานได้ดีเกินคาดในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับโอกาสที่ตลาดจะผันผวนในระยะสั้น โดยจากการสำรวจนักวิเคราะห์ 13 ราย มี 6 รายที่มองว่า นิกเกอิมีแนวโน้มปรับตัวลงอีก 10% ขึ้นไปภายในสิ้นเดือนก.ย. ขณะที่อีก 7 รายเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น
"ราคาหุ้นลงมาเยอะแล้ว และดูเหมือนว่าตอนนี้ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง" ฮิโรชิ นามิโอกะ นักกลยุทธ์และผู้จัดการกองทุนจาก T&D Asset Management กล่าว โดยเขาไม่คาดว่าตลาดจะปรับตัวลงอีกในระยะสั้นนี้
"นักลงทุนสถาบันที่มองผลตอบแทนระยะสั้นแค่ปีต่อปี อาจจะยังไม่กล้าเข้าซื้อ แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เล่นหุ้นแบบถือยาว การที่ตลาดร่วงแรงแบบนี้ ถือเป็นจังหวะซื้อที่น่าสนใจมาก ๆ เลยทีเดียว"