สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (9 ต.ค.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า บริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ (Seven & i Holdings Co.) ของญี่ปุ่น ยืนยันว่าได้รับข้อเสนอขอซื้อกิจการฉบับปรับปรุงใหม่จากบริษัทอาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ (Alimentation Couche-Tard) ของแคนาดา โดยเพิ่มวงเงินจาก 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นประมาณ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์
หากการเจรจาสำเร็จ การซื้อกิจการเจ้าของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ครั้งนี้ จะกลายเป็นดีลซื้อกิจการบริษัทญี่ปุ่นโดยต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานข่าวนี้เป็นเจ้าแรกว่า คูช-ตาร์ระบุราคาเสนอซื้อใหม่ที่ 18.19 ดอลลาร์ต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าข้อเสนอเดิมที่ 14.86 ดอลลาร์ต่อหุ้น ที่ถูกเซเว่นฯ ปฏิเสธไปก่อนหน้านี้ ถึง 22%
เซเว่น แอนด์ ไอ ออกแถลงการณ์ว่า ข้อเสนอล่าสุดนี้เป็นการเจรจาแบบส่วนตัวและไม่มีผลผูกมัดใด ๆ และทางบริษัทจะเก็บรายละเอียดการเจรจาไว้เป็นความลับตามคำขอของคูช-ตาร์
หลังมีข่าวออกมา หุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ พุ่งขึ้นเกือบ 12% ก่อนจะลดช่วงบวกและปิดตลาดที่ 2,335 เยน (15.7 ดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 4.7% ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังไม่มั่นใจนักว่าดีลนี้จะเกิดขึ้นจริง
เมื่อเดือนที่แล้ว เซเว่น แอนด์ ไอ ระบุว่าข้อเสนอซื้อกิจการเบื้องต้นของคูช-ตาร์ "ประเมินมูลค่าบริษัทต่ำเกินจริง" และย้ำว่าบริษัทมีแผนเพิ่มมูลค่ากิจการด้วยตัวเอง
นักวิเคราะห์และผู้นำธุรกิจต่างให้ความเห็นว่า แผนเพิ่มมูลค่ากิจการดังกล่าวหมายความว่า ตอนนี้เซเว่นฯ ต้องแสดงให้เห็นแล้วว่าจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นอย่างไร
กลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์เซเว่น แอนด์ ไอ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนต่างชาติอย่างแวลูแอคท์ แคปปิตอล (ValueAct Capital) และอาร์ติซาน พาร์ทเนอร์ส (Artisan Partners) ต่างมองว่าบริษัทควรเน้นธุรกิจหลักคือร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งมีสาขากว่า 80,000 แห่งทั่วโลก มากกว่าธุรกิจอื่น ๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต, ธนาคาร, ร้านอาหารเดนนีส์ (Denny's) และร้านขายเพลงทาวเวอร์ เรคคอร์ด (Tower Records)
นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างรอคอยรายละเอียดแผนเพิ่มมูลค่ากิจการ ซึ่งคาดว่าจะประกาศพร้อมกับผลประกอบการไตรมาส 2 ในวันพฤหัสบดีนี้ (10 ต.ค.)
ทราวิส ลันดี จากควิดดิตี แอดไวเซอร์ส (Quiddity Advisors) ให้ความเห็นผ่านแพลตฟอร์มสมาร์ตคาร์มา (Smartkarma) ว่า เซเว่น แอนด์ ไอ อาจประกาศขายหุ้นบางส่วนในเซเว่น แบงก์ (Seven Bank) ซึ่งเป็นธุรกิจธนาคารของบริษัท โดยเขามองว่าการขายหุ้นครั้งนี้จะทำให้เซเว่นฯ กลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แหล่งข่าวอีกแหล่งเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า เซเว่น แอนด์ ไอ กำลังพิจารณาขายหุ้นบางส่วนในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทกำลังเร่งแผนนำธุรกิจดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตามที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ ทีวีโตเกียว (TV Tokyo) รายงานในวันนี้ว่า เซเว่น แอนด์ ไอ กำลังพิจารณาเปลี่ยนชื่อบริษัท เพื่อสะท้อนถึงการมุ่งเน้นธุรกิจหลักคือร้านสะดวกซื้อมากขึ้น