ราคาหุ้น GSK (ชื่อเดิมคือ แกล็กโซสมิทไคล์น) พุ่งขึ้นสูงสุดถึง 6.5% ในวันนี้ (10 ต.ค.) หลังจากบริษัทยายักษ์ใหญ่ของอังกฤษรายนี้บรรลุข้อตกลงยอมจ่ายเงินสูงสุด 2.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีความในสหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่า Zantac ยาลดกรดที่ถูกยกเลิกการผลิตไปแล้วของ GSK เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งประกาศเมื่อวันพุธ (9 ต.ค.) มีมูลค่าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ไว้มาก รวมถึงการประเมินของเจพีมอร์แกน (JP Morgan) ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ข้อตกลงนี้ครอบคลุมคดีความที่ค้างอยู่ราว 80,000 คดี หรือคิดเป็น 93% ของคดีความทั้งหมดที่ GSK เผชิญอยู่ในสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์จากเจฟเฟอรีส์ (Jefferies) ระบุว่า การยุติคดีความเหล่านี้น่าจะขจัด "ปัจจัยลบสำคัญที่ฉุดรั้งราคาหุ้นจากกรณี Zantac ได้เกือบทั้งหมด"
ก่อนหน้านี้ ความกังวลเกี่ยวกับคดีความและค่าชดเชยที่อาจเกิดขึ้น บั่นทอนมูลค่าตลาดรวมของ GSK, ซาโนฟี่ (Sanofi), ไฟเซอร์ (Pfizer) และเฮลีออน (Haleon) ซึ่งล้วนเคยจำหน่ายยา Zantac ดังกล่าว ลงไปเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียวในเดือนส.ค. 2565
หุ้น GSK กลายเป็นดาวเด่นในดัชนี FTSE ประจำวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะทำสถิติการปรับตัวเพิ่มขึ้นรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2565
นอกจากนี้ GSK ยังยอมจ่ายเงิน 70 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีฟ้องร้องจากผู้เปิดโปงการทุจริตที่เกี่ยวข้องที่ยื่นฟ้องโดยห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในรัฐคอนเนทิคัตด้วย
อย่างไรก็ตาม GSK ไม่ยอมรับความผิดหรือความรับผิดใด ๆ ในข้อตกลงดังกล่าว และชี้แจงว่าข้อตกลงเหล่านี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทในระยะยาว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องอย่างต่อเนื่อง
GSK คาดว่าจะบันทึกค่าใช้จ่าย 1.8 พันล้านปอนด์ (2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในผลประกอบการไตรมาสที่ 3/2567 อันเนื่องมาจากข้อตกลงเหล่านี้ โดยคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน โดย GSK จะประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3/67 ในวันที่ 30 ต.ค. นี้
ทั้งนี้ Zantac ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ครั้งแรกในปี 2526 และก้าวขึ้นเป็นยาขายดีที่สุดในโลกในปี 2531 และเป็นหนึ่งในยาชนิดแรก ๆ ที่มียอดขายต่อปีทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ ยาดังกล่าวเคยถูกจำหน่ายโดยบริษัทยา GSK, ไฟเซอร์, ซาโนฟี่ และเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (Boehringer Ingelheim)
รานิทิดีน (Ranitidine) ซึ่งจำหน่ายในชื่อทางการค้าว่า Zantac ถูกเรียกคืนออกจากตลาดในปี 2563 ท่ามกลางความกังวลว่ายาดังกล่าวอาจสลายตัวกลายเป็นสารก่อมะเร็ง NDMA เมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อสัมผัสกับความร้อน การเรียกคืนครั้งนั้นกลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดคดีความจำนวนมาก