เงินยูโรอ่อนค่าเทียบเยน เหตุนักลงทุนวิตกข่าวอียู-สหรัฐคว่ำบาตรรัสเซีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 17, 2014 22:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากมีรายงานว่าสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐ มีมติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียล้มเหลวในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ในยูเครน ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับยูโร หลังจากสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.01 น.ตามเวลานิวยอร์กในวันนี้ สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.2% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 137.31 เยนต่อยูโร ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 101.55 เยนต่อดอลลาร์ และดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรที่ระดับ 1.3523 ยูโร

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากกลุ่มผู้นำของอียูได้ตัดสินใจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียด้วยเช่นกัน โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มองค์กรต่างๆ รวมถึงองค์กรรัสเซีย ซึ่งมีพฤติกรรมสนับสนุนด้านวัตถุและการเงินต่อขบวนการบ่อนทำลายหรือเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเอกราชของยูเครน

ขณะที่สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมเช่นกัน เนื่องจากรัสเซียล้มเหลวในการคลี่คลายวิกฤตยูเครน โดยการคว่ำบาตรครั้งนี้สหรัฐได้พุ่งเป้าหมายไปที่บริษัทการเงิน พลังงาน และอาวุธของรัสเซีย รวมถึงบริษัท Gazprombank และ VEB สองสถาบันการเงินรายใหญ่ของรัสเซีย และบริษัทพลังงาน เช่น Novatek และ Rosneft นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐยังสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินของสหรัฐปล่อยเงินล็อตใหม่ให้แก่บริษัทเหล่านี้ อีกทั้งสั่งอายัดสินทรัพย์ของบริษัทกลาโหมรัสเซีย 8 แห่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย รวมถึงนายโอเล็ก ซาเวลเยฟ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการไครเมียของรัสเซีย

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัวเมื่อเทียบกับยูโร หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. ปรับตัวลง 3,000 ราย สู่ระดับ 302,000 ราย สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 310,000 ราย นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักลงทุนมีความวิตกกังวลต่อทิศทางของสกุลเงินยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า สัดส่วนของสกุลเงินยูโรในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและบทบาทของสกุลเงินยูโรในฐานะสกุลเงินที่ใช้ระดมทุนในตลาดโลกนั้น เริ่มลดน้อยลง ถึงแม้ว่ายูโรโซนเป็นภูมิภาคที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2556 ได้มากกว่าในปีก่อนก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ