ค่าเงินยูโรร่วงลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2683 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2747 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ปรับตัวลงแตะ 1.6251 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.6310 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 109.36 เยน จากระดับ 108.69 เยน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9514 ฟรังค์ จาก 0.9469 ฟรังค์ และแข็งค่าขึ้นแตะ 1.1156 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.1099 ดอลลาร์แคนาดา
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.8761 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8785 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักอื่นๆ ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบสี่ปีที่ 85.521 ในช่วงท้ายของการซื้อขาย
โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 11 ติดต่อกัน จากสัญญาณบวกที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้น หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ ขยายตัว 4.6% ในไตรมาสสอง ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554
ตัวเลขจีดีพีล่าสุด ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่สามและครั้งสุดท้าย ได้รับการปรับทบทวนขึ้นจากตัวเลขประมาณก่อนหน้านี้ที่ 4.2% และพลิกกลับมาขยายตัวจากไตรมาสแรกที่หดตัว 2.1%
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของจีดีพีไตรมาสสองมีปัจจัยสนับสนุนหลักๆ มาจากการใช้จ่ายผู้บริโภค การส่งออก และการลงทุนในสินค้าคงคลังภาคเอกชน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐช่วงท้ายเดือนก.ย.ของรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน เพิ่มขึ้นแตะระดับ 84.6 ในเดือนก.ย. จาก 82.5 ในเดือนส.ค. ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคสหรัฐยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องยังเป็นผลมาจากความแตกต่างด้านนโยบายระหว่างเฟดและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาเป็นบวกในสัปดาห์นี้ได้ช่วยหนุนกระแสคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2558 ขณะที่อีซีบีให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากยูโรโซน
โดยผลสำรวจของมาร์กิตเมื่อวันอังคารแสดงให้เห็นว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนก.ย.ปรับตัวลงที่ 52.3 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 9 เดือน จาก 52.5 ในเดือนส.ค. ซึ่งส่งสัญญาณที่น่าวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
ทางด้านมาริโอ ดรากิ ประธานอีซีบีกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันพุธว่า อัตราดอกเบี้ยในยูโรโซนจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเช่นในปัจจุบันต่อไปเป็นระยะเวลานาน เพื่อหนุนเศรษฐกิจของภูมิภาค และอีซีบีจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หากจำเป็น