ค่าเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1220 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.1179 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ลดลงที่ 1.5349 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5391 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 121.20 เยน จาก 121.33 เยน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9675 ฟรังก์ จาก 0.9630 ฟรังก์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7121 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7164 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดัน หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเมื่อคืนนี้ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเขตชิคาโก อ่อนตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือนส.ค. จาก 54.7 ในเดือนก.ค. โดยถูกกระทบจากการลดลงของการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ แต่ก็ได้แรงหนุนจากการจ้างงานที่พุ่งขึ้น และก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะอยู่ที่ระดับ 54.5 ในเดือนส.ค.
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยว่า ภาคการผลิตในรัฐเท็กซัสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -0.8 ในเดือนส.ค. จาก -1.9 ในเดือนก.ค. โดยปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แม้ว่ายังอยู่ในภาวะย่ำแย่ เนื่องจาก ดัชนีที่ติดลบบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน อุปสงค์และการค้าที่ซบเซา จะสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ความวิตกดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเลี่ยงการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงดอลลาร์ และทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า โดยนายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟด เปิดช่องสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าในการกล่าวปาฐกถาที่เมืองแจ็คสัน โฮลในช่วงสุดสัปดาห์ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายก็ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน หลังระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น