ค่าเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1309 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.1220 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ลดลงที่ 1.5316 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5349 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 119.69 เยน จาก 121.20 เยน และลดลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9607 ฟรังก์ จาก 0.9675 ฟรังก์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7041 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7121 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดัน หลังจากข้อมูลภาคการผลิตและภาคบริการที่อ่อนแอของจีนได้จุดปะทุความวิตกเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีน
สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนส.ค.ปรับตัวลงแตะ 49.7 จากระดับ 50 ในเดือนก.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตของจีนเผชิญกับภาวะหดตัว
ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนในเดือนส.ค.ลดลงแตะ 53.4 จาก 53.9 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวอ่อนแรงอย่างต่อเนื่องของภาคบริการ
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังเผชิญปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของสหรัฐ หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 51.1 ในเดือนส.ค. ลดลงจากระดับ 52.7 ในเดือนก.ค. โดยได้รับผลกระทบจากดอลลาร์ที่แข็งค่า และเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของมาร์กิตที่ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน จากระดับ 53.8 ในเดือนก.ค.
ความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐส่งผลให้มีแรงเทขายในตลาดหุ้นทั่วโลก และทำให้นักลงทุนทบทวนการประเมินช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย