ค่าเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1185 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.1175 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์เพิ่มขึ้นที่ 1.5132 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5127 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 119.92 เยน จาก 119.91 เยน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9777 ฟรังก์ จาก 0.9741 ฟรังก์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7031 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7015 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลง หลังสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.ย.
ผลการสำรวจของ ISM พบว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 50.2 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2556 ลดลงจากระดับ 51.1 ในเดือนส.ค. โดยได้รับผลกระทบจากดอลลาร์ที่แข็งค่า และอุปสงค์ต่างประเทศที่ซบเซา
ขณะเดียวกัน มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน รายงานว่า ภาคการผลิตของสหรัฐขยายตัวมากขึ้นเล็กน้อยในเดือนก.ย. แต่ยังใกล้ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์, อุปสงค์ที่อ่อนแอในตลาดโลก, ภาวะตื่นตระหนกในตลาดการเงิน รวมทั้งการลดการลงทุนในภาคธุรกิจ
มาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 53.1 ในเดือนก.ย. จากระดับ 53.0 ในเดือนส.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือน หรือต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2556
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างจับตาดูข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อช่วงเวลาในการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 173,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2551
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ตอกย้ำว่ายังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่เฟดมีกำหนดที่จะประชุมนโยบายการเงินอีกเพียง 2 ครั้งในปีนี้