ยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.0921 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 1.0860 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.4261 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4408 ดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6859 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6993 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 116.98 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 118.15 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0011 ฟรังค์ จากระดับ 1.0065 ฟรังค์
ภาวะการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเป็นไปอย่างผันผวน โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลง 0.4% ในเดือนธ.ค. โดยร่วงลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.2% อันเนื่องมาจากผลกระทบของราคาน้ำมันที่ดิ่งลง และสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าปกติ ซึ่งฉุดการผลิตในภาคสาธารณูปโภคและภาคเหมืองแร่ของสหรัฐ
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนธ.ค.ปรับตัวลงสู่ระดับ 76.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 76.8%
ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ร่วงลง 0.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจลดลง 0.2% ในเดือนพ.ย.2015 หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนต.ค. โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า สต็อกสินค้าที่อ่อนแอจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4
นักลงทุนจับตาดูท่าทีของเฟดในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวว่า การเริ่มต้นกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นไปได้ด้วยดี แต่เขายังไม่สามารถระบุได้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดจะดำเนินการเร็วเพียงใดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อๆไป
นายดัดลีย์กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามาจะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของเฟดอย่างไรในการกำหนดนโยบายการเงิน
ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แต่อาจมีแนวโน้มปรับขึ้นในเดือนมี.ค.