ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบปอนด์ เหตุวิตกอังกฤษออกจากสมาชิก EU

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2016 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์และยูโร (23 ก.พ.) โดยเงินปอนด์ยังคงอ่อนแรงลงเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ว่า อังกฤษอาจจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรร่วงลงหลังจากสถาบัน Ifo เปิดเผยว่า ผู้บริหารภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นลดลงในเดือนก.พ.เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ค่าเงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1014 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.1027 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ลดลงสู่ระดับ 1.4022 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4147 ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลงเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 112.00 เยน จาก 112.79 เยน และลดลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9920 ฟรังก์ จาก 0.9987 ฟรังก์

ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7214 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7229 ดอลลาร์

เงินปอนด์ยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าอังกฤษอาจจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) โดยล่าสุดนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) กล่าวต่อคณะกรรมาธิการในรัฐสภาอังกฤษว่า BoE กำลังเตรียมแผนฉุกเฉินสำหรับผลพวงที่จะเกิดขึ้น หลังการจัดทำประชามติเกี่ยวกับสมาชิกภาพของอังกฤษใน EU นายคาร์นีย์ระบุว่า ค่าเงินปอนด์ที่มีความผันผวนในระยะนี้ เกิดจากความไม่แน่นอนต่อผลการลงประชามติ แต่ก็สอดคล้องกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่สก็อตแลนด์จะทำประชามติเกี่ยวกับการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรในปี 2014

ส่วนเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากสถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ผู้บริหารภาคธุรกิจของเยอรมนีมีความเชื่อมั่นลดลงในเดือนก.พ.เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ Ifo เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับตัวลงสู่ระดับ 105.7 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2014 หลังแตะ 107.3 ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะอยู่ที่ระดับ 106.7 ในเดือนก.พ.

อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนตัวผันผวน โดยแม้ว่าดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปอนด์และยูโร แต่ก็อ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลงสู่ระดับ 92.2 ในเดือนก.พ. หลังแตะระดับ 97.8 ในเดือนม.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวสู่ระดับ 97.0 ในเดือนก.พ.

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในปัจจุบันของภาคการผลิตร่วงลงสู่ระดับ -4 ในเดือนก.พ. หลังจากอยู่ที่ระดับ 2 ในเดือนม.ค. เพราะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอุปสงค์ที่อ่อนแอ รวมทั้งการดิ่งลงของราคาพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ