ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบเงินสกุลหลัก รับกระแสคาดการณ์เฟดขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 2, 2017 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆเกือบทั้งหมด ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มี.ค.) ด้วยแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆนี้ หลังเจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 113.69 เยน จากระดับ 112.02 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0084 ฟรังก์สวิส จากระดับ 1.0036 ฟรังก์สวิส

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0553 ดอลลาร์จากระดับ 1.0604 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2301 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2413 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 0.7676 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7674 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น หลังนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ ได้กล่าวสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้ โดยเขาระบุว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งเขาคาดว่าจะขยายตัวราว 2% และอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะขยายตัวราว 2% ในปีนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.ถือเป็นแนวคิดที่ดี

นอกจากบูลลาร์ดแล้ว นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ก็ได้ออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ในตลาดว่า โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 70%

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังรับปัจจัยบวกจากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่สภาคองเกรสเมื่อวานนี้ โดยทรัมป์ได้ประกาศแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งประกาศแผนการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับชนชั้นกลาง และลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับภาคธุรกิจ

นักลงทุนจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ที่ Executives' Club of Chicago ในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

โดยปัจจัยล่าสุดที่สนับสนุนกระแสคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้น มาจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่เปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2013

ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญนั้น เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2012

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.พ.โดยมาร์กิต และดัชนีภาคการผลิตเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ