ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนค่า ก่อนสภาผู้แทนฯสหรัฐยกเลิกโหวตร่างกม.ประกันสุขภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday March 25, 2017 08:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรและเยน ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) ก่อนที่จะมีรายงานว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยกเลิกการลงมติร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งจะนำมาใช้แทนกฎหมาย "โอบามาแคร์" เนื่องจากเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันมีไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 110.83 เยน จากระดับ 111.11 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9907 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9930 ฟรังก์สวิส ขณะที่ปรับตัวขึ้นแตะ 1.3381 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3345 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0804 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0781 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2495 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2512 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงที่ระดับ 0.7626 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7630 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆอย่าง ยูโร และ เยน ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศยกเลิกร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งผลักดันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act (ACA)" หรือ "โอบามาแคร์" ของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้เลื่อนการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าวจากวันพฤหัสบดีมาเป็นวันศุกร์ เนื่องจากเสียงสนับสนุนของพรรครีพับลิกันยังไม่มากพอต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวให้ผ่านความเห็นชอบในสภาได้ แต่ถึงแม้จะเลื่อนการลงมติมาหนึ่งวัน แต่รัฐบาลก็ยังคงไม่สามารถโน้มน้าวเสียงสนับสนุนจากกลุ่มส.ส.แนวอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกัน จนนำมาสู่การตัดสินใจคว่ำร่างกฎหมายอเมริกันเฮลธ์แคร์ในที่สุด

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้ยื่นคำขาดให้สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ซึ่งหากสภาไม่ให้การอนุมัติ ปธน.ทรัมป์ก็ประกาศว่าจะไม่มีการรื้อฟื้นร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยจะปล่อยให้กฎหมายประกันสุขภาพ "โอบามาแคร์" มีผลบังคับใช้ต่อไป และเขาจะหันไปผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภาษี

ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าการโหวตร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ ว่าจะสามารถผลักดันการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามที่ได้ให้สัญญาไว้ในระหว่างการหาเสียงหรือไม่ โดยความล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมาย "อเมริกันเฮลธ์แคร์" ส่งผลให้เกิดความกังวลว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ อาจต้องล่าช้าออกไปด้วย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานในวันศุกร์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้น 1.7% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 2.3% ในเดือนม.ค.

การดีดตัวขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ในภาคการขนส่ง โดยเฉพาะคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์ที่ทะยานขึ้น 47.6% ขณะที่อุปสงค์สำหรับรถยนต์ร่วงลง 0.8%

อย่างไรก็ดี ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. สวนทางตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค.

ขณะที่บริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 53.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หลังจากแตะระดับ 54.3 ในเดือนก.พ.

ด้านดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 52.9 ในเดือนมี.ค. หลังจากแตะระดับ 53.8 ในเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ