สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆเกือบทั้งหมด ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 มี.ค.) ด้วยแรงหนุนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2559 ของสหรัฐ ที่ขยายตัวได้ดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 111.58 เยน จากระดับ 111.10 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0004 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9972 ฟรังก์สวิส
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0685 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0753 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.2483 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2421 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงที่ระดับ 0.7655 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7671 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับจีดีพีประจำไตรมาส 4/2559 โดยระบุว่า จีดีพีมีการขยายตัว 2.1% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2%
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 258,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราว 247,000 ราย
นักลงทุนจับตาการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันร่างงบประมาณให้ผ่านสภาคองเกรสภายในช่วงเดือนเม.ย.นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐ หรือ "ชัตดาวน์"
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ได้เสนองบประมาณมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมและสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก-สหรัฐ โดยจำนวนเงินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณที่จะช่วยให้หน่วยงานราชการของสหรัฐสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายหลังเดือนเม.ย อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งได้แสดงความกังวลว่า ข้อเสนอของปธน.ทรัมป์อาจส่งผลให้เกิดการชัตดาวน์ เนื่องจากพรรคเดโมแครตปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอของรีพับลิกัน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.พ., รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนก.พ. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน