สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) ด้วยปัจจัยหนุนจากการที่นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากแรงกดดันของรายงานตัวเลขประมาณการจีดีพีประจำไตรมาส 1 ของสหรัฐ ซึ่งแม้จะขยายตัวดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ยังเป็นตัวเลขเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1438 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1382 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นที่ระดับ 1.2996 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2936 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 0.7675 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7638 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 112.03 เยน จากระดับ 112.32 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9564 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9596 ฟรังก์สวิส
สกุลเงินยูโรและปอนด์ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากนายดรากี ประธาน ECB และนายมาร์ค คาร์นีย์ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน โดยนายดรากีกล่าวว่า ECB ควรปรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และนโยบายซื้อพันธบัตรจำนวนมาก ขณะที่คาร์นีย์กล่าวว่า BoE มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังขยายตัวใกล้เต็มศักยภาพ โดย BoE จะหารือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลง หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ตัวเลขประมาณครั้งที่ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1 ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 1.4% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.2% แต่ยังเป็นตัวเลขเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 2,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 244,000 ราย โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 240,000 ราย
นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน