ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าเทียบปอนด์-เยน หลังสหรัฐเผยข้อมูลเงินเฟ้ออ่อนแอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 2, 2017 07:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยนและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ส.ค.) จากแรงกดดันของข้อมูลเงินเฟ้อที่อ่อนแอของสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนี้

ปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3218 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3193 ดอลลาร์ ในขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะ 1.1810 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1825 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง ที่ระดับ 0.7977 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7990 ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 110.23 เยน จากระดับ 110.37 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9652 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9663 ฟรังก์สวิส

ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักบางสกุล ภายหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% หรือ 8.1 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 0.3%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนมิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.5% เช่นกันในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ตาม ดัชนี PCE พื้นฐาน ยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับ 2.0% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า เวลานี้นักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจน้อยลงว่าเฟดจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ โดย CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสเพียง 52% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.นี้

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยด้วยว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างของสหรัฐดิ่งลง 1.3% ในเดือนมิ.ย. สู่ระดับ 1.21 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2016 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ บริษัทไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.3 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าระดับ 52.0 ในเดือนมิ.ย.

ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ปรับตัวสู่ระดับ 56.3 ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 56.5

นักลงทุนจับตาข้อมูลด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ค.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนก.ค. จากมาร์กิต, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย., ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. และดุลการค้าเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ