ดอลล์อ่อนเทียบยูโร,เยน วิตกพายุ "ฮาร์วีย์" กระทบเศรษฐกิจ ขณะตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 28, 2017 19:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบยูโรและเงินเยนในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค. และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2

ณ เวลา 19.40 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.05% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.32 เยน และอ่อนค่าลง 0.07% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.1932 ยูโร

นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ ขณะที่คอร์โลจิก (CoreLogic) ผู้ให้บริการข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของสหรัฐ เปิดเผยผลการวิเคราะห์ความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคน "ฮาร์วีย์" ซึ่งพัดถล่มรัฐเท็กซัสของสหรัฐเมื่อวานนี้ โดยคาดว่าเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์อาจสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ จะเดินทางไปยังรัฐเท็กซัสในวันพรุ่งนี้ หลังจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์พัดถล่มรัฐเท็กซัส ซึ่งส่งผลให้เกิดฝนตกหนักทั่วรัฐเท็กซัส และยังทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน นอกจากนี้ อิทธิพลของพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ยังส่งผลให้โรงเรียนหลายแห่งในเมืองฮุสตันของรัฐเท็กซัสต้องปิดการเรียนการสอน ขณะที่สายการบินบางแห่งประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกจากเมืองฮุสตัน

นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 1 ก.ย.นี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย

ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.จะขยายตัวเพียง 180,000 ตำแหน่ง หลังจากที่ขยายตัวมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนก่อนหน้านั้น ขณะเดียวกันคาดว่า อัตราว่างงานเดือนส.ค.จะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4.3%

นอกจากนี้ คาดว่ารายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยจะขยับขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. และหากเทียบเป็นรายปี คาดว่ารายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 2.6% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงถือเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ