สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ย.) จากแรงกดดันของกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ สืบเนื่องจากเงินเฟ้อยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับเป้าหมายของเฟด ขณะที่พายุเฮอร์ริเคน "เออร์มา" ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งสหรัฐและคาดว่าจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงนั้น ได้เพิ่มน้ำหนักให้กับกระแสคาดการณ์ดังกล่าว
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1923 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1905 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.3049 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3027 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น 0.8002 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7990 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 109.32 เยน จากระดับ 108.79 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9566 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9555 ฟรังก์สวิส
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่นางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดได้ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อในสหรัฐกำลังปรับตัวลง และอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ของเฟด ดังนั้น เฟดจึงควรใช้ความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าราคากำลังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดเงินสหรัฐยังจับตาสถานการณ์ของพายุเฮอร์ริเคนเออร์มาอย่างใกล้ชิด โดยศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐ (NHC) ระบุว่าพายุลูกดังกล่าวได้เพิ่มกำลังแรงขึ้นเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 5 และมีความเร็วลมสูงสุดที่ 185 ไมล์/ชั่วโมง (300 กม./ชม.) ขณะกำลังพัดอยู่ในบริเวณตอนเหนือของทะเลแคริบเบียน โดยล่าสุดรัฐฟลอริดาและหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับมือกับวาตภัยครั้งนี้
นักวิเคราะห์คาดว่า อิทธิพลของพายุลูกนี้ซึ่งมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 80 ปีนั้น จะสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่รัฐที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้เฟดต้องชะลอการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวภายในองค์กรของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟดวัย 74 ปี ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวานนี้ และจะมีผลในวันที่ 13 ต.ค.นี้ โดยการลาออกของนายฟิสเชอร์จะเปิดโอกาสให้ปธน.ทรัมป์ส่งคนของตนเข้ารับตำแหน่งในคณะกรรมการเฟด ในช่วงที่เฟดกำลังดำเนินการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดงบดุลจากวงเงิน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า สหรัฐมีตัวเลขขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. สู่ระดับ 4.37 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะขาดดุลการค้า 4.46 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค.
ขณะที่ผลการสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2015 จากระดับ 54.7 ในเดือนก.ค.
นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ค.