ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าเทียบยูโร ขณะนักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 13, 2017 07:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและปอนด์ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ก.ย.) ขณะนักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งอาจเป็นตัวบ่งชี้กรอบเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1967 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1965 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.3289 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3173 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง ที่ระดับ 0.8026 ดอลลาร์ จากระดับ 0.8030 ดอลลาร์

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 110.03 เยน จากระดับ 109.32 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9599 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9540 ฟรังก์สวิส

ในเวลานี้ตลาดเงินได้หันไปจับตาข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ตามเวลาท้องถิ่น โดยข้อมูลดังกล่าวอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของเฟดหลังจากนี้

ทั้งนี้ มีกระแสคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เฟดอาจจะชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยล่าสุด CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาสเพียง 41.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.นี้

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้และอาจมีผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายของเฟดนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนตำแหน่งงานว่างในสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 6.2 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค.

ในเดือนเดียวกัน ตัวเลขการจ้างงานและลาออกจากงานอยู่ที่ระดับ 5.5 ล้านและ 5.3 ล้านตำแหน่งตามลำดับ โดยที่จำนวนการเลย์ออฟและปลดออกจากตำแหน่งอยู่ที่ระดับ 1.2% ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นายจ้างกำลังประสบปัญหาในการว่าจ้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการด้านทักษะวิชาชีพ

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ