ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ ก่อนที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนยังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้เช่นกัน
ณ เวลา 19.15 น. ดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.27% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.1781 ยูโร จากระดับ 1.1745 ยูโร และอ่อนค่าลง 0.29% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ระดับ 1.3420 ปอนด์ จากระดับ 1.3386 ปอนด์
ดอลลาร์อ่อนแรงลงหลังจากพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ภายหลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมหากเฟดจะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังอยู่ในทิศทางที่ไม่แน่นอนก็ตาม
ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนางเยเลนส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างในตลาดการเงินว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. โดย CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.นี้
นักลงทุนจับตากระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยการประมาณการครั้งสุดท้ายของ GDP ไตรมาส 2 ในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย
ส่วนการประมาณการครั้งที่ 2 ของตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ซึ่งได้มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น GDP มีการขยายตัว 3.0% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ 2.6% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายผู้บริโภคและการลงทุนในภาคเอกชนที่ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่เฟดในวันนี้ ซึ่งรวมถึงนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้ และนายสแตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมซึ่งธนาคารกลางอังกฤษจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนในวันนี้
ทางด้านนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตัน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กเมื่อวานนี้ โดยนายโรเซนเกรนได้สนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจะไม่อยู่ในภาวะที่ร้อนแรงเกินไปในวันข้างหน้า
ประธานเฟดสาขาบอสตันกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวร้อนแรงจนเลยจุดที่เรียกว่า "ยั่งยืน" ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น หรืออาจหนุนอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้นเหนือระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2% ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมองว่า การยกเลิกนโยบายผ่อนคลายการเงินอย่างสม่ำเสมอและค่อยเป็นค่อยเป็นนั้น ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม