สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ต.ค.) หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมากล่าวสนับสนุนให้ ECB ลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปีหน้า ส่วนดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ขณะนักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1807 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1749 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.3204 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3153 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 0.7783 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7760 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 112.31 เยน จากระดับ 112.66 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9751 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9799 ฟรังก์สวิส
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากนางซาบิน เลาเทนชเลเกอร์ รองประธานคณะกรรมการกำกับดูแลของ ECB กล่าวว่า ECB ควรลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ตั้งแต่ปีหน้า พร้อมกับมีเป้าหมายในการยุติการซื้อพันธบัตรในปีหน้าเช่นกัน
"ดิฉันคิดว่าเราควรเริ่มต้นลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรในปีหน้า โดยดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าเราจะไม่ต้องซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม" นางเลาเทนชเลเกอร์กล่าว
ทั้งนี้ ECB เตรียมตัดสินใจว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรในปีหน้าหรือไม่ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ ECB ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดวงเงินลง แต่จะมีการขยายเวลาในการซื้อพันธบัตรออกไป
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.45% สู่ระดับ 93.253 เมื่อคืนนี้
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำวันที่ 19-20 ก.ย.ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาผู้ที่มีแนวโน้มจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ แทนนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน โดยมีการคาดการณ์ว่า นายเควิน วอร์ช อดีตผู้ว่าการเฟดสายเหยี่ยว ซึ่งสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจได้รับเลือกให้เป็นประธานเฟดคนใหม่
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้และเป็นที่จับตาของนักลงทุนนั้น ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย., ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน