ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก ขณะนลท.จับตา "ทรัมป์" ประกาศชื่อว่าที่ประธานเฟด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 25, 2017 07:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ต.ค.) ขณะตลาดจับตาการประกาศชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนต่อไป

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1759 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1734 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.3121 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3199 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง ที่ระดับ 0.7775 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7800 ดอลลาร์

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 113.86 เยน จากระดับ 113.74 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9907 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9868 ฟรังก์สวิส

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.04% สู่ระดับ 93.969 เมื่อคืนนี้

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยชื่อว่าที่ประธานเฟด ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจประกาศชื่อประธานเฟดคนใหม่ก่อนที่เขาจะเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียในวันที่ 3 พ.ย.นี้ โดยขณะนี้ปธน.ทรัมป์กำลังพิจารณาบุคคลอย่างน้อย 3 คน ซึ่งได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน, นายเจอโรม พาวเวล ผู้ว่าการเฟด และนายจอห์น เทย์เลอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ และเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั้น ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนต.ค.ของสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 54.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน จากระดับ 53.1 ในเดือนก.ย. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนต.ค. อยู่ที่ 55.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 55.3 ในเดือนก.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย., ยอดขายบ้านใหม่เดือนก.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ย., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนก.ย., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ