สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 พ.ย.) ขณะที่นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ รวมถึงกังวลเกี่ยวกับศักยภาพเศรษฐกิจของสหรัฐในการรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1795 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1668 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.3170 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3116 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 0.7635 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7625 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 113.38 เยน จากระดับ 113.62 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9893 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9961 ฟรังก์สวิส
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.72% สู่ระดับ 93.812 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงจากความวิตกกังวลต่อความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่ของสหรัฐ หลังสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาได้เสนอให้มีการชะลอการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% สู่ระดับ 20% ไปเป็นปี 2562
ทั้งนี้ การชะลอการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ถือเป็นการสวนทางความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้โดยทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ ยังอาจจะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการตัดสินใจย้ายฐานกลับสู่สหรัฐ เนื่องจากต้องการรอให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้
นักลงทุนในตลาดเงินยังให้ความสนใจกับการประชุมเสวนาในหัวข้อ "Communication challenges for policy effectiveness, accountability and reputation" ซึ่งจัดโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี เมื่อวานนี้ โดยผู้เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นางเยลเลนกล่าวว่า การที่เฟดทำการชี้นำทิศทางนโยบายในอนาคตนั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ควรดำเนินการอย่างมีเงื่อนไข โดยขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเศรษฐกิจในขณะนั้น
นางเยลเลนยอมรับว่า ปัจจัยหนึ่งที่ท้าทายเฟดก็คือ การที่เฟดมีสมาชิกคณะกรรมการจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความสับสนต่อตลาดการเงิน ขณะที่กรรมการเฟดแต่ละคนแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน
CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 96.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% เช่นกันในเดือนก.ย. โดยปัจจัยที่หนุนดัชนี PPI มาจากการปรับตัวขึ้นของราคาในภาคบริการ
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2555 หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนก.ย.
นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนพ.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ยอดค้าปลีกเดือนต.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ย., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนต.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาก่อสร้างเดือนต.ค.