สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ธ.ค.) ด้วยแรงหนุนจากข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐซึ่งขยายตัวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1794 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1815 ดอลลาร์ ในขณะที่ปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.3376 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3437 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง ที่ระดับ 0.7562 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7608 ดอลลาร์
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยน ที่ระดับ 112.26 เยน จากระดับ 112.59 เยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9902 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.9883 ฟรังก์สวิส
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% สู่ระดับ 93.579 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง โดยภาคบริการมีการจ้างงานพุ่งขึ้น 155,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 35,000 ตำแหน่ง
นักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าในการผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีในสภาคองเกรสของสหรัฐ หลังวุฒิสภาได้ลงมติรับรองร่างกฎหมายฉบับของวุฒิสมาชิกรีพับลิกันด้วยคะแนนเสียงฉิวเฉียด 51-49 คะแนนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่า โอกาสที่รัฐสภาสหรัฐจะลงมติอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับสุดท้ายเพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามประกาศบังคับใช้นั้น มีค่อนข้างสูง แต่ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น ถึงแม้ว่าสมาชิกสภาคองเกรสอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการประสานข้อแตกต่างระหว่างเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐก็ตาม
นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย, ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนต.ค.
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่จะบ่งชี้ถึงแนวโน้มการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ย.จะเพิ่มขึ้นเพียง 188,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าเดือนต.ค.ที่เพิ่มขึ้น 261,000 ตำแหน่ง และคาดว่า อัตราว่างงานเดือนพ.ย.จะขยับขึ้นสู่ระดับ 4.2% จากเดือนต.ค.ที่ระดับ 4.1%