ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ผันผวนเทียบสกุลเงินหลัก หลังตัวเลขจ้างงานสหรัฐเพิ่มน้อยกว่าคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday January 6, 2018 06:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ม.ค.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธ.ค.ขยายตัวน้อยกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ส่วนสกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง หลังจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้า

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2050 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2069 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3571 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3548 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7868 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7860 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.14 เยน จากระดับ 112.77 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9755 ฟรังก์ จากระดับ 0.9748 ฟรังก์

ดอลลาร์เคลื่อนตัวผันผวนเมื่อคืนนี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนธ.ค. โดยปรับตัวขึ้นเพียง 148,000 ตำแหน่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี

ทั้งนี้ ตัวเลขจ้างงานที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ โดย CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 76% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนมี.ค. ลดลงจากระดับ 78% ก่อนเปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน และนักลงทุนยังคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งหลังจากเดือนมี.ค.

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้นเพียง 1.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ทรงตัวที่ระดับ 1.1% ในเดือนธ.ค.

ดัชนี CPI เดือนธ.ค.บ่งชี้ถึงภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในยูโรโซน และอาจทำให้ให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป

เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานเมื่อวานนี้ว่า ประสิทธิภาพการผลิตในระบบเศรษฐกิจของอังกฤษพุ่งขึ้นในอัตราสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว โดยผลผลิตต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 0.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2559 และเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2554

นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า เพื่อจับสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ของเฟด โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนธ.ค. ในวันพฤหัสบดีที่ 11 ม.ค. และจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนธ.ค. ในศุกร์ที่ 12 ม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ