สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 ม.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลว่าสภาคองเกรสสหรัฐอาจไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้ทันเส้นตาย ซึ่งจะส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือ ชัตดาวน์ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.62 จากระดับ 110.99 เยน แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9618 ฟรังก์ จากระดับ 0.9585 ฟรังก์ และปรับตัวขึ้นแตะ 1.2482 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2431 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2235 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2243 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3875 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3893 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.8002 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7999 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอาจถูกชัตดาวน์เนื่องจากขาดงบประมาณในการดำเนินงาน หากสภาคองเกรสไม่สามารถลงมติอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้ทันก่อนเส้นตายในวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ
ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐกำลังบริหารประเทศด้วยงบประมาณชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณ 2561 เมื่อเดือนต.ค.2560 โดยงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุลงในวันศุกร์
นักลงทุนในตลาดทองคำติดตามสถานการณ์การเมืองในสหรัฐใกล้ชิด โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐ ก่อนที่จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันศุกร์
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า วุฒิสภาจะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้หรือไม่ เนื่องจากมีวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันหลายคนกล่าวว่า พวกเขาจะโหวตคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้
การชัตดาวน์ครั้งหลังสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 และนายโดนัลด์ ทรัมป์กำลังพยายามหาทางเจรจากับสมาชิกพรรคเดโมแครต เพื่อหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันครบรอบหนึ่งปีการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของเขา
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 94.4 ในกลางเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีจะดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 97.0 หลังจากอยู่ที่ระดับ 95.9 ในเดือนธ.ค.
ก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งขึ้นแตะ 101.1 ในวันที่ 13 ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ก่อนที่จะร่วงลงหลังจากนั้น
สื่อสหรัฐรายงานว่า ข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าวอาจสะท้อนได้ว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนม.ค.จะลดลง และยังอาจรวมไปถึงแนวโน้มตลาดแรงงานและการจ้างงานด้วย
ด้านเงินปอนด์อ่อนค่าลง หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรดิ่งลงมากกว่าคาดในเดือนธ.ค. โดยร่วงลง 1.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 หลังจากพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ย.