สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อนั้น ยังทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.26 เยน จากระดับ 109.37 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9318 ฟรังก์ จากระดับ 0.9269 ฟรังก์
เงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2452 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2516 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.4118 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4270 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7926 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.8040 ดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.พุ่งขึ้น 200,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี
ส่วนตัวเลขรายได้ หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้น 9 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี
นักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขรายได้หรือค่าแรงของแรงงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปีในเดือนม.ค.นั้น จะเป็นปัจจัยหนุนให้คณะกรรมการเฟดภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดคนใหม่ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มากกว่า 3 ครั้งที่มีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่จะดีดตัวขึ้น
นอกจากนี้ ข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นด้วย โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 3% แตะที่ 3.074% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ทะยานขึ้นแตะ 2.83% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี
นอกเหนือจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรแล้ว ทางการสหรัฐยังเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆเมื่อคืนนี้ด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนธ.ค. โดยพุ่งขึ้น 1.7% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5% ทางด้านผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 95.7 ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีจะร่วงลงสู่ระดับ 95.0 หลังจากอยู่ที่ระดับ 95.9 ในเดือนธ.ค.