สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ก.พ.) โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ หลังจากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐขยายตัวมากกว่าคาด
ยูโรอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2400 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2452 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.4001 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4118 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7901 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7926 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.71 เยน จากระดับ 110.26 เยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9356 ฟรังก์ จากระดับ 0.9318 ฟรังก์
ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ หลังจากมีกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้น 200,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขรายได้ หรือค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อนั้น เพิ่มขึ้น 9 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยหนุนจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 59.9 ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.5
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ ISM สวนทางกับไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.3 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จากระดับ 53.7 ในเดือนธ.ค.
นักลงทุนจับตาสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณในวันนี้ ก่อนที่งบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดีนี้ โดยการลงมติในวันนี้มีขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับโครงการคุ้มครองผู้อพยพวัยเยาว์ที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐ (DACA) จำนวนกว่า 7 แสนคน ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุว่า เขาจะยกเลิกโครงการดังกล่าวภายในวันที่ 5 มี.ค. ซึ่งจะส่งผลให้มีการเนรเทศผู้อพยพเหล่านี้กลับประเทศ
ทั้งนี้ หากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกฎหมายงบประมาณภายในเวลาเที่ยงคืนของวันพฤหัสบดีนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือเวลาเที่ยงของวันศุกร์ตามเวลาไทย สหรัฐก็จะเผชิญภาวะปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) อีกครั้ง หลังจากที่เกิดการชัตดาวน์เป็นเวลา 3 วันในเดือนที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดุลการค้าเดือนธ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนธ.ค.