ดอลลาร์ร่วงลงสู่ช่วงกลางของกรอบ 105 เยนในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการทำสงครามการค้า หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณการถอนตัวจากการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ถ้าหากเงินเฟ้อแตะระดับเป้าหมายในปีงบประมาณ 2562 ก็เป็นอีกปัจจัยที่ถ่วงดอลลาร์ลง
ณ เวลา 20.01 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.13% สู่ระดับ 105.59 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.36% สู่ระดับ 129.86 เยน และร่วงลง 0.18% สู่ระดับ 1.2295 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.17% สู่ระดับ 90.09
ปธน.ทรัมป์ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอลูมิเนียม 10% ในสัปดาห์นี้ เพื่อที่จะปกป้องภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ โดยส่งสัญญาณว่า สหรัฐอาจยกเลิกการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม อย่างน้อยที่สุดสำหรับแคนาดาและเม็กซิโก หากมีการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ที่เป็นธรรม
"สหรัฐจะยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ก็ต่อเมื่อมีการลงนามในข้อตกลง NAFTA ใหม่ที่เป็นธรรม โดยเราขาดดุลการค้าจำนวนมากกับเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งข้อตกลง NAFTA ที่กำลังมีการเจรจากันในขณะนี้ เป็นข้อตกลงที่ไม่ดีสำหรับสหรัฐ ทำให้มีการโยกย้ายการจ้างงานและบริษัทออกจากสหรัฐ"
"นอกจากนี้ แคนาดาต้องปฏิบัติต่อเกษตรกรของเราให้ดีขึ้น และเม็กซิโกจะต้องดำเนินการมากขึ้นในการสกัดการส่งยาเสพติดเข้าสู่สหรัฐ โดยพวกเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ ขณะที่มีคนหลายล้านคนติดยาเสพติดและกำลังจะตาย" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ทั้งนี้ สหรัฐ แคนาดาและเม็กซิโกมีกำหนดเจรจา NAFTA รอบสุดท้ายในวันนี้ หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์และเยนในวันนี้ โดยถูกกดดันจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอิตาลี
กระทรวงมหาดไทยอิตาลีแถลงว่า ผลการนับคะแนนเลือกตั้งในช่วงแรกพบว่าไม่มีพรรคการเมือง หรือกลุ่มพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะส่งผลให้อิตาลีเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ขณะที่นักการเมืองทำการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ ผลการนับคะแนนบางส่วนพบว่า กลุ่มพรรคการเมืองที่นำโดยพรรคฟอร์ซา อิตาเลีย ของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี จะได้ที่นั่งรวมกันในสภาผู้แทนราษฎรคิดเป็นสัดส่วน 36.0-36.5%
ส่วนพรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนท์ (M5S) ซึ่งมีนายลุยจิ ดิไมโอ นักการเมืองรุ่นใหม่ เป็นหัวหน้าพรรค จะมีที่นั่งคิดเป็นสัดส่วนราว 30-31% ซึ่งจะทำให้ M5S เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ได้เก้าอี้มากที่สุดในสภาผู้แทนฯ
ขณะที่พรรคเดโมเครติก พาร์ตี้ ของนายมัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี จะได้เก้าอี้คิดเป็นสัดส่วนราว 24-25%