ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (20 มี.ค.) ก่อนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงผลการประชุมในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า คณะกรรมการเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 106.44 เยน จากระดับ 105.94 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9553 ฟรังก์ จากระดับ 0.9496 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2255 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2353 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.4004 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4043 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7684 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7719 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดซึ่งมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่วันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย ขณะที่ CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 94.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในปีนี้ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือนมิ.ย. และครั้งที่ 3 ในเดือนก.ย.
ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้นเพียง 2.7% ในเดือนก.พ. โดยต่ำกว่าระดับ 3.0% ในเดือนม.ค. หลังจากพุ่งแตะ 3.1% ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2555 ทั้งนี้ ONS ระบุว่า การชะลอตัวของดัชนี CPI ในเดือนก.พ. ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ส่วนสกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง จากรายงานของสถาบัน ZEW ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมีเดือนมี.ค. ร่วงลงอย่างหนัก สู่ระดับ 5.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2559 โดยลดลงจากระดับ 17.8 ในเดือนก.พ. และอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 13.1
นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 4/2560, ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. และยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ.