ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์ผันผวนเทียบสกุลเงินหลัก เหตุวิตกผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 3, 2018 07:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนตัวผันผวน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดเงินนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐเช่นกัน

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.84 เยน จากระดับ 106.24 เยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9546 ฟรังก์ จากระดับ 0.9541 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2301 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2324 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.4041 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4035 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7653 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7686 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์เคลื่อนตัวอย่างผันผวนเมื่อคืนนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆจากสหรัฐ จำนวน 128 รายการ ซึ่งรวมถึงเนื้อหมูและผลไม้ โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในช่วงก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ จีนได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 120 รายการจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอีก 8 รายการ ซึ่งรวมถึงเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมู ในอัตรา 25% เพื่อตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และภาษีนำเข้าอลูมิเนียมในอัตรา 10% จากประเทศต่างๆ รวมถึงจีน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังได้ลงนามในคำสั่งเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยกล่าวหาว่า จีนดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากสหรัฐ

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดเงินนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ร่วงลงสู่ระดับ 59.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 60.8 ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวสู่ระดับ 60.0

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างขยับขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% โดยการใช้จ่ายในโครงการภาคสาธารณะดิ่งลง 2.1% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว ส่วนการก่อสร้างในโครงการของรัฐบาลกลางดิ่งลง 11.9% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2547

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ., ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ