ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบยูโร,เยน ขณะนักลงทุนยังกังวลผลกระทบสงครามการค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 4, 2018 07:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 เม.ย.) อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ นักลงทุนยังระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ในวันศุกร์นี้

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.58 เยน จากระดับ 105.84 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9592 ฟรังก์ จากระดับ 0.9546 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.2268 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2301 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น ที่ระดับ 1.4056 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4041 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7680 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7653 ดอลลาร์สหรัฐ

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 120 รายการจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ ในอัตรา 15% และเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอีก 8 รายการ ซึ่งรวมถึงเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหมู ในอัตรา 25%

มาตรการดังกล่าวเป็นการตอบโต้สหรัฐที่ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และภาษีนำเข้าอลูมิเนียมในอัตรา 10% จากประเทศต่างๆ รวมถึงจีน

รายงานล่าสุดระบุว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เปิดเผยรายการสินค้าของจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ USTR ระบุว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวน 1,300 รายการ ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม สินค้าด้านการขนส่ง และสินค้าทางการแพทย์ ในอัตรา 25% โดยมีเป้าหมายที่จะตอบโต้จีนที่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐ

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ., ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนก.พ., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ