ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 พ.ค.) ก่อนที่ตลาดจะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังจากมีรายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.80 เยน จากระดับ 109.29 เยน และแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9964 ฟรังก์ จากระดับ 0.9907 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1996 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2081 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3618 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3749 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7491 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7529 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเชื่อว่า มีโอกาสสูงขึ้นที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้ หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญนั้น พุ่งขึ้น 1.9% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของเฟด
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดส่วนหนึ่งยังได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดที่คลี่คลายลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขยายเวลาการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมให้ EU แคนาดา เม็กซิโก ออกไปอีกหนึ่งเดือน หรือจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.
ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังจากผลการสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิต/ซีไอพีเอส ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรปรับตัวลดลงแตะ 53.9 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 54.9 ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงของสหราชอาณาจักรส่งผลให้นักลงทุนมองว่า มีโอกาสน้อยลงที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 1.7% ในเดือนมี.ค. หลังจากขยับขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนก.พ. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค.
ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายในเดือนเม.ย.ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 55.6 ในเดือนมี.ค. ส่งสัญญาณว่าสภาวะการดำเนินงานในภาคการผลิตของสหรัฐนั้นปรับตัวดีขึ้น
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดจะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.