ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 พ.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสคาดการณ์ในตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่เร่งขึ้นปรับอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.37 เยน จากระดับ 109.71 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0022 ฟรังก์ จากระดับ 1.0048 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1926 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1861 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3520 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3556 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7538 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7464 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะดีดตัวขึ้น 0.3% โดยการปรับตัวต่ำกว่าคาดของดัชนี CPI ในเดือนเม.ย.มีสาเหตุจากการชะลอตัวของค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาสุขภาพ แม้ว่าราคาน้ำมันเบนซิน และค่าเช่าบ้านดีดตัวขึ้นก็ตาม
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%
คริส โลว์ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์เอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าวว่า การที่ดัชนี CPI เดือนเม.ย.ขยายตัวต่ำกว่าคาดนั้น ได้ลดโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากดัชนี CPI พื้นฐานที่ยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด นอกเหนือจากดัชนี CPI แล้ว ทางการสหรัฐยังเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกทรงตัวที่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 48 ปี สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 218,000 ราย นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน