ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 พ.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นทะลุระดับ 3.10% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงรายงานจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียซึ่งระบุว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.74 เยน จากระดับ 110.26 เยน และทรงตัวเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0013 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.1799 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1802 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3508 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3482 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7509 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7515 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.106% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2554 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.230% เมื่อคืนนี้
การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินดีดตัวขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อดอลลาร์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับอัตราเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินในระบบ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นนั้น มาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยล่าสุดเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียรายงานเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีกิจกรรมการผลิตขั้นต้นเดือนพ.ค.พุ่งขึ้นสู่ระดับ 34.4 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 21.0
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 11,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 215,000 ราย
ทางด้าน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 0.4% สู่ระดับ 109.4 ในเดือนเม.ย. โดยปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค.