ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่การจัดการประชุมสุดยอดระหว่างตัวเขา และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.ที่สิงคโปร์ ตามที่มีการกำหนดไว้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.38 เยน จากระดับ 109.30 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9919 ฟรังก์ จากระดับ 0.9915 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1666 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1727 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3319 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3385 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7546 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7577 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐและเกาหลีเหนือ หลังจากปธน.ทรัมป์ส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่การจัดการประชุมสุดยอดระหว่างตัวเขา และนายคิม จอง อึน จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย.ที่สิงคโปร์ ตามที่มีการกำหนดไว้ แม้ว่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเขาเพิ่งประกาศยกเลิกการประชุมดังกล่าว โดยอ้างถึงท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์จากเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนท่าทีของปธน.ทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่ทางฝั่งเกาหลีเหนือได้แสดงความตั้งใจที่จะหันหน้าเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง โดยนายคิม คเย กวาน รมช.ต่างประเทศเกาหลีเหนือ และเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีเหนือที่ทำหน้าที่เจรจากับสหรัฐ กล่าวว่า เกาหลีเหนือเล็งเห็นถึงความพยายามของปธน.ทรัมป์ในการจัดประชุมสุดครั้งนี้ และเกาหลีเหนือเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเมื่อใด หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 98 ในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 98.8 หลังจากที่พุ่งขึ้นแตะ 101.4 ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 1.7% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.4%
อย่างไรก็ตาม ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7%