สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอิตาลี ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีดตัวขึ้นในเดือนพ.ค.
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1533 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1628 ดอลลาร์ เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3247 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3314 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7502 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7544 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.22 เยน จากระดับ 109.39 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9883 ฟรังก์ จากระดับ 0.9936 ฟรังก์
สกุลเงินยูโรได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี หลังจากความพยายามในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานนั้นยังคงไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าอิตาลีอาจจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
ทั้งนี้ นายแซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี ประกาศแต่งตั้งนายคาร์โล คอตตาเรลลี อดีตนักเศรษฐศาสตร์วัย 64 ปีประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีของอิตาลีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยนายคอตตาเรลลีมีภารกิจในการปรับลดหนี้จำนวนมากของประเทศ และเร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยนายคอตตาเรลลีคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
ส่วนสกุลเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนหลังจากผลสำรวจของสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือนมี.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และปริมาณสต็อกบ้านในระดับต่ำ
ทางด้าน Conference Board เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 128.0 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 125.6 ในเดือนเม.ย. และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2561 (ประมาณการครั้งที่ 2), สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดขายรถยนต์เดือนพ.ค.