ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังจากสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมจากแคนาดา, เม็กซิโก และสหภาพยุโรป (EU) ขณะที่ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ได้ออกมาตรการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1691 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1655 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3290 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3282 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7566 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7575 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.68 เยน จากระดับ 108.90 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9849 ฟรังก์ จากระดับ 0.9894 ฟรังก์
นักลงทุนต่างพากันวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระลอกใหม่ หลังจากนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และภาษีนำเข้าอลูมิเนียม 10% จากแคนาดา, เม็กซิโก และ EU โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้เวลา 11.00 น.ตามเวลาไทย หลังจากที่การเจรจาระหว่างสหรัฐและ EU ประสบความล้มเหลว
ด้านรัฐบาลแคนาดาได้ออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม รวมทั้งสินค้าอื่นๆที่นำเข้าจากสหรัฐ ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโกประกาศมาตรการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน โดย EU ได้ประกาศรายชื่อสินค้าสหรัฐหลายร้อยรายการที่จะถูกเรียกเก็บภาษี นับตั้งแต่เนยถั่วไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ ส่วนเม็กซิโกประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงเนื้อสุกร, แอปเปิล, องุ่น, ชีส และเหล็กแผ่น
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดและมีผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 13,000 ราย สู่ระดับ 221,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 228,000 ราย นอกจากนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ร่วงลง 1.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนีร่วงลง 2.1% โดยเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดขายรถยนต์เดือนพ.ค.