สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) หลังจากสถานการณ์การเมืองในยุโรปเริ่มส่งสัญญาณในด้านบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการจัดตั้งรัฐบาลผสมในอิตาลี ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการ และดุลการค้า
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1697 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1663 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3315 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3345 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7653 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7570 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.72 เยน จากระดับ 109.53 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ0.9881 ฟรังก์ จากระดับ 0.9887 ฟรังก์
สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากสถานการณ์การเมืองในยุโรปเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยความคืบหน้าทางการเมืองในอิตาลีนั้น นายจูเซปเป คอนเต ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของอิตาลี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นผู้นำรัฐบาลผสม หลังจากสองพรรคการเมืองใหญ่ของอิตาลีได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งจะช่วยให้อิตาลีสามารถปลดล็อกทางการเมืองที่ดำเนินมานาน 3 เดือน หลังการเลือกตั้งในวันที่ 4 มี.ค. ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในรัฐสภา
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในสเปนนั้น นายเปโดร ซานเชส ผู้นำพรรคสังคมนิยม ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสเปน หลังจากนายมาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรี ได้พ่ายแพ้การลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือนเม.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.5% โดยได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน
นักลงทุนจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 12-13 มิ.ย. โดยมีการคาดการณ์ในวงกว้างว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนเม.ย., ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 1/2561, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย.