ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์และดอลลาร์ออสเตรเลีย ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและฟรังก์สวิส เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.3280 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3282 ดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.7450 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7485 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1606 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1593 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.57 เยน จากระดับ 110.58 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9962 ฟรังก์ จากระดับ 0.9964 ฟรังก์
สำหรับปัจจัยที่ช่วยหนุนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินปอนด์และดอลลาร์ออสเตรเลียนั้น มาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ดีดตัวขึ้น 4.9 จุด สู่ระดับ 25.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวลงเล็กน้อย โดยดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก
ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 99.3 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 98.3 โดยผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคต่างมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อสถานะการเงิน และสถานะการซื้อสินค้าในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ ฐานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากทำเนียบขาวประกาศบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 25% เพื่อตอบโต้การที่จีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ
ขณะที่รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตอบโต้ด้วยการออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐจำนวน 659 รายการ โดยเรียกเก็บในอัตรา 25% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์