ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงรายงานจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียที่ระบุว่า ดัชนีภาวะธุรกิจมิด-แอตแลนติกร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นหลังจากมีรายงานว่า กรรมการของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) บางคนได้สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.86 เยน จากระดับ 110.39 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9908 ฟรังก์ จากระดับ 0.9957 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1622 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1589 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3253 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3186 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7389 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7371 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ 19.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559 จากระดับ 34.4 ในเดือนพ.ค.
ทางด้าน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. โดยปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึง คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, ราคาหุ้น และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน
ส่วนสกุลเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ลงมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการประชุมครั้งนี้ด้วยคะแนนเสียง 6-3 ซึ่ง 3 เสียงดังกล่าวมีความเห็นให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.75%
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ 40% ที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนส.ค. และมีโอกาส 80% ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 220,000 ราย โดยตัวเลขผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกร่วงลงติดต่อกัน 4 สัปดาห์ และยังคงอยู่ต่ำกว่า 300,000 ราย เป็นสัปดาห์ที่ 172 ติดต่อกัน ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2512
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต