ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก รับบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง,ข้อมูลศก.สดใส

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 27, 2018 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และจากการที่นักลงทุนมีมุมมองเป็นบวกต่อข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐที่ยังคงขยายตัวในเดือนเม.ย.

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.08 เยน จากระดับ 109.45 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9912 ฟรังก์ จากระดับ 0.9857 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1647 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1703 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.3227 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3282 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7391 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7404 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.882% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.028% เมื่อคืนนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดีดตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนขายพันธบัตรหลังเจ้าหน้าที่สหรัฐแสดงความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐต่อประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ โดยปกติแล้วราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐเตรียมออกแถลงการณ์จำกัดการลงทุนต่อทุกประเทศทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะจีน หากพบว่าประเทศใดละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาต่อสินค้าด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ ขณะที่นายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเปิดเผยในทางตรงกันข้ามว่า สหรัฐยังไม่มีแผนการจำกัดการลงทุนจากจีนและประเทศอื่นๆในขณะนี้

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยหนุนหลังจากสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์/เคส ชิลเลอร์เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.4% ในเดือนเม.ย. ลดลงจากระดับ 6.5% ของเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี ราคาบ้านยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และปริมาณสต็อกบ้านในระดับต่ำ

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนพ.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2561 (ประมาณการครั้งสุดท้าย), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ